สถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ

Release Date : 09-10-2018 00:00:00

“สถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือนโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ”

น.ท.ไพบูลย์  เทพประสิทธิ์

ร.อ.นธี   ปลัดสุติน

 

         

 

 

 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แต่งตั้งให้ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็น “สถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน” เป็นไปตามระเบียบกรมการบินพลเรือน ว่าด้วยนายแพทย์ผู้ตรวจด้านเวชศาสตร์การบินพลเรือน ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน และสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๗  

     โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบเป็นหน่วยงานขึ้นตรงการบังคับบัญชากับฐานทัพเรือสัตหีบ และเป็นสถานพยาบาลที่มีกรมแพทย์ทหารเรือเป็นผู้ควบคุมสายงานทางด้านเทคนิคสายแพทย์ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของชาติและของภูมิภาคอาเซียนก็ว่าได้ เนื่องจาก รัฐบาลมีนโยบายจัดทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC :Eastern Economic Corridor Development)เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยจะส่งเสริม ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งจะดำเนินการใน ๓ จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา ด้วยการแบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมืองโดยได้เริ่มแผนพัฒนาโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

สำหรับแผนงานการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะประกอบด้วย ทางอากาศ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ทางเรือ ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด ทางถนน ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรุงเทพฯ-ชลบุรี พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา และทางราง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง  โดยมีโครงการที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก   ได้แก่

๑. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า ๓ล้านคนต่อปี และจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบินในภาคตะวันออก

๒. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส ๓  เพื่อรองรับจำนวนตู้สินค้า ๑๘ ล้าน TEUต่อปี (จากเดิม ๗ ล้านTEUต่อปี)  และรองรับการส่งออกรถยนต์ ๓ ล้านคันต่อปี

๓. โครงการท่าเรือมาบตาพุด  รองรับการลงทุนในภาคปิโตรเคมี  ๓๖๐,๐๐๐ ล้านบาทใน ๕ ปี

๔. โครงการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ  เพื่อรองรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว  ๓ ล้านคนต่อปี

๕. โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง  เพื่อเชื่อมต่อ ๓ สนามบินหลัก คือ สนามบินดอนเมือง, สนามบินสุวรรณภูมิ  และสนามบินอู่ตะเภา  รองรับผู้โดยสาร ๑๐๐,๐๐๐ คนต่อวัน 

๖. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย  เชื่อมโยงแหล่งอุตสาหกรรมและท่าเรือ

๗. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)  เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด, เส้นทางแหลมฉบัง-นครราชสีมา และเส้นทางชลบุรี-ตราด

 

ทั้งนี้ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่มี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ประกาศพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและโดยรอบจำนวน๖,๕๐๐ ไร่ เป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือเป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” โดยจะมีการดมทุนใน ๓ กิจกรรมสำคัญ ได้แก่

๑) เพิ่มทางวิ่งมาตรฐานอีก ๑ ทางวิ่ง (รันเวย์ที่ ๒)

๒) ลงทุนในกิจกรรมหลัก ๕ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน กลุ่มธุรกิจการขนส่งทางอากาศ กลุ่มธุรกิจเครื่องบิน และกลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน

๓) ในอนาคตจะมีอีก ๓กิจกรรมเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียง คือ กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีปกป้องประเทศ

สัตหีบเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว กับปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก และหากมองไกลไปถึงอนาคตที่การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว อย่างไม่สิ้นสุด สัตหีบจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน

จากสังคมชนบท คงเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมือง อย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุที่ สนามบินอู่ตะเภา จะเป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก”นั่นก็หมายความว่า จะมีการหลั่งไหลของกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานกับสายการบิน ทั้งสายการบินพาณิชย์ ของสายการบินไทยและสายการบินต่างประเทศอาทิเช่น นักบิน นายช่างประจำอากาศยาน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน(แอร์โฮสเตส) หรือ นางฟ้าบนเครื่องบิน ที่คนทั่วไปกล่าวถึง 

เพื่อรองรับ“เมืองการบินภาคตะวันออก” และตอบสนองยุทธศาสตร์กรมแพทย์ทหารเรือ ที่ว่า เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง และตรงตามวิสัยทัศน์กรมแพทย์ทหารเรือ “ เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง และเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์ทางทะเล”โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบเห็นความสำคัญและมีความจำเป็นต้องที่จะสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวก ให้กับกลุ่มคนสายอาชีพดังกล่าว โดยเฉพาะนักบิน ที่จำเป็นต้องทำการตรวจและต่อใบสำคัญแพทย์ ตามที่กรมการขนส่งทางอากาศ กำหนด  ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แต่งตั้งโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็น “สถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน”เมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.๖๐ 

 

มีความหมายของคำ ที่เราควรทราบ ดังนี้

“นายแพทย์ผู้ตรวจ” (Authorized Medical Examiner: AME) หมายความว่า นายแพทย์เวชศาสตร์การบินที่ผู้อำนวยการแต่งตั้งให้มีสิทธิตรวจทางแพทย์แก่ผู้ขอต่ออายุใบสำคัญแพทย์ทุกชั้น

“สถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน” หมายความว่า โรงพยาบาลที่มีนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสที่ผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ตรวจเพื่อต่ออายุใบสำคัญแพทย์ทุกชั้น และทำการตรวจเพื่อออกใบสำคัญแพทย์ ได้เฉพาะใบสำคัญแพทย์ชั้นสอง และชั้นสี่  

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

กรมการขนส่งทางอากาศ ประกาศเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่ทำหน้าที่ไว้ต่างๆกันได้แก่

๑. ใบสำคัญแพทย์ชั้น ๑ (Class 1 medical assessment) ได้แก่ นักบินพาณิชย์ ต้นหน และนายช่างประจำอากาศยาน

๒. ใบสำคัญแพทย์ชั้น ๒ (Class 2medical assessment)ได้แก่ นักบินส่วนบุคคลต่างๆ ศิษย์การบิน

๓. ใบสำคัญแพทย์ชั้น ๓ (Class 3medical assessment)ได้แก่ พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ

๔. ใบสำคัญแพทย์ชั้น ๔ (Class 4medical assessment) ได้แก่ นักบินอากาศยานเบาพิเศษ

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนการตรวจ คือ กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นสถานพยาบาลที่เหมาะสม มีเครื่องมือ  ที่ใช้ในการตรวจด้านเวชศาสตร์การบิน ครบถ้วน  มีนายแพทย์เวชศาสตร์การบิน  ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “นายแพทย์ผู้ตรวจ”  จำนวน ๓ท่าน  คือ น.อ.ขจิตร์  อุษณีษ์สวัสดิ์ชัย, น.อ.สรรพสิทธิ์  สงกุมาร, น.อ.กมลศักดิ์  ต่างใจ   ให้ทำการตรวจ เพื่อต่ออายุใบสำคัญแพทย์ทุกชั้น และทำการตรวจเพื่อออกใบสำคัญแพทย์ ได้เฉพาะชั้นสอง และชั้นสี่  ทำให้โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่สามารถให้บริการตรวจหรือต่ออายุใบสำคัญทางการแพทย์ ให้กับผู้ที่มารับบริการกลุ่มดังกล่าว

นอกจากนี้ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ยังมีแพทย์เวชศาสตร์การบิน จำนวน ๒ ท่าน คือ น.อ.ขจิตร์  อุษณีษ์สวัสดิ์ชัย และ น.อ.กมลศักดิ์  ต่างใจ   ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการแพทย์เวชศาสตร์การบินผู้ทรงคุณวุฒิ (Board of Aeromedical Specialist – BAS)ภายใต้ประกาศกรมการบินพลเรือน เรื่อง การขอออกใบสำคัญแพทย์ พ.ศ.๒๕๕๗   จาก นายจุฬา  สุขมานพ (ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย) ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ อีกด้วย

 

มีของดีแบบนี้ต้องบอกต่อ........ขอบคุณครับ